Integrated Pest Management System
หลักการพื้นฐานในการป้องกันการแพร่กระจายของแมลง
- การป้องกันไม่ให้เข้ามา (PreventingAccess) อาคารสถานประกอบการ จะต้องซ่อมแซมให้มีสภาพที่ป้องกันการเข้า-ออก อาคาร และกำจัดแหล่งที่มีความเสี่ยงที่อาจเป็นทางเข้ามา เช่น รู รอยแตกตามเพดานหรือกำแพง ท่อระบายน้ำ หรือสถานที่สัตว์เหล่านี้สามารถเข้ามาได้ ควรอุดรูให้สนิท นอกจากการปรับปรุงอาคารให้เหมาะสมเพื่อป้องกันการเข้ามาของสัตว์พาหะและแมลงแล้ว จะต้องตรวจสอบสินค้า วัตถุและวัสดุที่จะนำเข้ามาในสถานประกอบการว่ามีสัตว์พาหะหรือแมลงติดมาหรือเปล่า หรือตรวจว่ามีลักษณะของการปนเปื้อนจากมูลหรือร่องรอยการทำลายของสัตว์เหล่านี้หรือไม่ ถ้ามีให้แยกออกต่างหากแล้วตรวจสอบอย่างละเอียดหรือแจ้งให้ผู้นำส่งทราบ และส่งสินค้าคืน นอกจากนั้นจะต้องห้ามสัตว์ทุกชนิดเข้าในบริเวณโรงงานและสถานที่ผลิตตลอดจนสถานประกอบการอาหารภัตตาคาร
- การจำกัดวง (Proofing/Exclusion) วิธีนี้เกี่ยวข้องกับสุขอนามัย การดูแลรักษาความสะอาดเพื่อลดแหล่งอาหาร น้ำ ตัดต้นไม้ ต้นหญ้าไม่ให้รกรุงรัง เพื่อลดแหล่งหลบซ่อนสำหรับสัตว์พาหะและแมลง สำรวจหาแหล่งอาหาร แหล่งหลบซ่อน และแหล่งเพาะพันธุ์ทั้งภายนอกและภายในอยู่เสมอโดยปฏิบัติให้เป็นกิจวัตร
- การทำลาย (Eradication) การกำจัดต้นเหตุของปัญหาแมลงโดยใช้วิธีทางกายภาพ และวิธีอื่นๆ การทำลายแมลงโดยวิธีใช้สารเคมีจะเป็นวิธีสุดท้ายที่จะใช้ อาจใช้ในกรณีที่เกิดปัญหาการระบาดและต้องการลดปริมาณลงในทันที
การดำเนินการจัดระบบ IPM
การจัดระบบ IPM เป็นการจัดการแบบผสมผสานของการสุขาภิบาล, ธรรมชาติ, อุณหภูมิ, เครื่องมือ และสารเคมีในการควบคุมป้องกัน และกำจัดสัตว์พาหะนำโรคและสัตว์รบกวน จะใช้สารเคมีต่อเมื่อจำเป็นเท่านั้น
การสำรวจตรวจสอบ (Inspection)
- สำรวจและจัดทำแผนที่สถานประกอบการ สภาพสิ่งแวดล้อมภายนอกอาณาเขตบริเวณ บริเวณภายนอกอาคาร รายละเอียดภายในสถานประกอบการ กิจกรรม หรือผลิตภัณฑ์เป็นชนิดใด รวมทั้งสำรวจความชุกชุมของสัตว์พาหะนำโรคตามแหล่งหลบซ่อน แหล่งอาหาร และช่องทางเข้าอาคาร เพื่อทำการวางแผนควบคุมและป้องกัน
การบ่งระบุชนิดแมลง (Identification)
- จำแนกสัตว์พาหะนำโรคและความชุกชุมว่าเป็นหนู แมลงสาบ แมลงวัน สัตว์อื่นๆ ชนิดใด ทั้งนี้เพราะหนู หรือแมลงต่างชนิดกันมีแหล่งที่อยู่อาหาร และวงจรชีวิตที่แตกต่างกัน เพื่อประโยชน์ในการควบคุมป้องกันและกำจัดได้อย่างเหมาะสม
การสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม (Sanitation)
- การปรับปรุงที่อยู่อาศัย (Habitat Modification)
- การปิดกั้น / สกัดกั้นทางเข้า-ออก ของแมลง (Proofing / Exclusion)
- การดูแลความสะอาดและความเรียบร้อยของอาคารสถานที่ (House Keeping)
การใช้วิธีการจัดการร่วมกันตั้งแต่สองอย่างขึ้นไป (Application of two or more procedures)
- การปรับปรุงพฤติกรรม (Cultural Methods)
- การกำจัดด้วยตนเองและการใช้เครื่องมือ (Physical / Mechanical Method)
- การกำจัดทางชีวะภาพ (Biological Method)
- การกำจัดโดยใช้สารเคมี (Chemical Methods)
การติดตามประเมินผล (Evaluation)
ประเมินผลการดำเนินงาน โดยการตรวจติดตาม และรายงานอย่างละเอียด โดยสรุปผลสถานการณ์ในปัจจุบันและแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นต่อไปเพื่อหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไข
เสนอแนะปรับปรุง
ให้ข้อมูลและให้ความรู้เกี่ยวกับ IPM แก่ผู้เกี่ยวข้อง และผู้ดูแลสถานประกอบการ